สภาพทั่วไป

      ตำบลแก้ง เป็นตำบลเก่าแก่ ตั้งแต่เมื่อปี พ.ศ. 2462 โดยหลวงวิเศษ หรือ นายบัว พิทธภาพ โดยมีแม่น้ำสายหลักของตำบลคือ ลำน้ำซอม ไหลผ่านเป็นลำน้ำที่แบ่งเขตตำบลแก้ง ตำบลตบหูในเขตอำเภอ เดชอุดม และตำบลยาง ในเขตอำเภอน้ำยืน ราษฎรส่วนมากมาจากอำเภอวารินชำราบ อำเภอสำโรง ในเขตจังหวัดอุบลราชธานี และอำเภอกันทรารมย์ จังหวัดศรีสะเกษ โดยมีกำนันมาแล้ว 8 คน คือ นายบัว พิทธภาพ นายสมบูรณ์ จำปาคำ นายหนู โสภาพิศ นายสอน ทับทิม นายก้าน ทารินทร์ นายแสน ศรีคำ นายสินทร ผกาศรี นายจอน คำมี ปัจจุบันมี 11 หมู่บ้าน มีลักษณะชุมชนและวิถีชีวิตความเป็นอยู่แบบเครือญาติ และแบบชาวชนบทอีสานทั่วไป คือ อยู่แบบพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน นับถือผู้อาวุโส รักษาขนบธรรมเนียมประเพณีที่สืบทอดกันมายาวนาน โดยเฉพาะประเพณีที่ภาคอีสานสืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน

เนื้อที่

      องค์การบริหารส่วนตำบลแก้ง มีเนื้อที่ ทั้งหมด 65 ตารางกิโลเมตร

อาณาเขต

  • ทิศเหนือ จรด องค์การบริหารส่วนตำบลโนนสมบูรณ์
  • ทิศใต้ จรด องค์การบริหารส่วนตำบลยาง อำเภอน้ำยืน
  • ทิศตะวันออก จรด องค์การบริหารส่วนตำบลตบหู
  • ทิศตะวันตก จรด องค์การบริหารส่วนตำบลนาเกษม อำเภอทุ่งศรีอุดม

เขตการปกครอง

      เขตพื้นที่รับผิดชอบ องค์การบริหารส่วนตำบลแก้ง มีหมู่บ้านในเขตปกครอง ทั้งหมด 11 หมู่บ้าน

ประชากร

      ประชากรในเขตพื้นที่รับผิดชอบ ตำบลแก้ง มีประชากรรวม ทั้งสิ้น 8,303 คน เป็นชาย 4,178 คน และหญิง 4,125 คน จำนวน 2,503 หลังคาเรือน ดังนี้

หมู่ที่ ชื่อหมู่บ้าน ชาย หญิง รวม
1 บ้านแก้ง 448 487 935
2 บ้านแก้ง 515 492 1,007
3 บ้านประหูต 547 544 1,091
4 บ้านยาง 414 403 817
5 บ้านบุ่งคล้า 305 280 585
6 บ้านห้วยสำราญ 353 354 707
7 บ้านไฮตาก 377 354 731
8 บ้านแถวสะอาด 301 283 584
9 บ้านศรีไทยยาง 290 305 595
10 บ้านนาคำใหญ่ 284 281 565
11 บ้านแก้งเจริญ 344 342 686

      ที่มา : สำนักทะเบียนอำเภอเดชอุดม (ข้อมูล ณ เดือน เมษายน พ.ศ. 2564)

ลักษณะภูมิอากาศ

      พื้นที่ตำบลแก้ง อยู่ในเขตภูมิอากาศแบบ Tropical Savanha : “Aw” ตามระบบจำแนกประเภท ภูมิอากาศของ Koppen คือ มีช่วงความแตกต่างของฤดูฝน และฤดูแล้ง อย่างชัดเจน มีช่วงกลางวันยาวในฤดูร้อน และมีอุณหภูมิเฉลี่ยสูงตลอดปี อยู่ภายใต้อิทธิพลของลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ (มรสุมฤดูหนาว และฤดูแล้ง) และลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ (มรสุมฤดูร้อน และฤดูฝน)

      ลักษณะฤดูกาลโดยปกติตามมาตรฐานภูมิศาสตร์สากล จะมีเพียงฤดูเดียว คือ ฤดูร้อน ทั้งร้อนชื้น และร้อนแห้งแล้ง แต่ถ้าจำแนกตามภูมิศาสตร์ของภูมิภาค สามารถแบ่งได้ 3 ฤดูกาล ดังนี้

      ฤดูฝน เริ่มประมาณกลางเดือนพฤษภาคม ไปจนถึงกลางเดือนตุลาคม และมักปรากฏเสมอว่า ฝนทิ้งช่วง ในเดือนมิถุนายน ถึง เดือนกรกฎาคม แต่ระยะทิ้งช่วง จะไม่เหมือนกันในแต่ละปี ซึ่งในช่วงปลายฤดูฝนมักจะมีพายุหมุนเขตร้อนเคลื่อนผ่านหรือเข้าใกล้ ทำให้มีฝนตกชุก บางปีอาจเกิดภาวะน้ำท่วม

      ฤดูหนาว เริ่มตั้งแต่กลางเดือนตุลาคม ถึง กลางเดือนกุมภาพันธ์ โดยอุณหภูมิจะลดลง ตั้งแต่ปลายเดือนตุลาคมเป็นต้นไป และจะหนาวมากในช่วง ปลายเดือนธันวาคม ถึง เดือนมกราคม ในฤดูนี้จะได้รับอิทธิพลจากลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งพัดเอาความหนาวเย็นและแห้งเข้ามาปกคลุม

      ฤดูร้อน เริ่มตั้งแต่กลางเดือนกุมภาพันธ์ ถึง กลางเดือนพฤษภาคม อากาศจะเริ่มร้อนขึ้นตามลำดับ และอาจมีฝนตกบ้างเป็นบางวันแต่ปริมาณไม่มากนัก ไม่เพียงพอต่อการเพาะปลูก ในฤดูนี้มักจะมีพายุฤดูร้อนเกิดขึ้น ทำให้เกิดพายุฝนฟ้าคะนองและลมกระโชกแรง

การคมนาคม

      การคมนาคมขนส่งทางรถยนต์สามารถใช้เส้นทางหลวงแผ่นดิน, ทางหลวงจังหวัด และถนนท้องถิ่น เป็นเส้นทางติดต่อภายในตำบลแก้ง ได้อย่างสะดวกสบาย มีรถยนต์โดยสารประจำทางให้บริการ

การสาธารณสุข

      ตำบลแก้ง มีโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลแก้ง จำนวน 1 แห่ง ตั้งอยู่บ้านแก้ง หมู่ที่ 1 ตำบลแก้ง

ไฟฟ้า

      ตำบลแก้ง เป็นชุมชนชนบท ระบบการไฟฟ้าขยายทั่วถึงทั้งตำบล ประชากรมีไฟฟ้าใช้ครบทุกครัวเรือนทำให้ประชาชนมีสิ่งอำนวยความสะดวก คือมีเครื่องใช้ไฟฟ้าต่างๆ เกือบทุกครัวเรือน

ประปา

      ตำบลแก้ง มีประปาผิวดินขนาดกลาง และระบบประปาหมู่บ้าน ครอบคลุมทุกหมู่บ้าน

การประกอบอาชีพ

      ประชากรในตำบลแก้ง ประกอบอาชีพด้านเกษตรกรเป็นส่วนใหญ่ เช่น ทำนา ทำไร่ ทำสวนยาง การทำประมงขนาดเล็กเป็นอาชีพเสริม และรับจ้างทั่วไป

การศาสนา

      ประชาชนในตำบลแก้ง นับถือศาสนาพุทธ คิดเป็นร้อยละ 100

 

Map

Poll

ความพึงพอใจของท่าน ต่อการให้บริการของ องค์การบริหารส่วนตำบลแก้ง อำเภอเดชอุดม จังหวัดอุบลราชธานี อยู่ในระดับใด ?
  • โหวต: (0%)
  • โหวต: (0%)
  • โหวต: (0%)
  • โหวต: (0%)
  • โหวต: (0%)
Total Votes:
First Vote:
Last Vote:

สารสนเทศ สถ.

หน่วยงาน สถ.

ลิงค์น่าสนใจ